สารอาหาร “คิวเทน” นอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังส่งให้เรา “สวย” ได้อีกด้วย นักวิชาการยืนยันจากการเสวนาในงานมหิดลวิชาการเรื่อง “การกินเพื่อสุขภาพและความงาม” ของสถาบันวิจัย ที่สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆนี้
ดร.เอกราช เกตวัลห์ อาจารย์ประจำฝ่ายเคมีทางอาหาร สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า
โคเอนไซม์คิวเทน หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกย่อๆว่าคิวเทน เป็นสารที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายของมนุษย์และสัตว์ มีอยู่มากในอวัยวะภายในโดยเฉพาะหัวใจ, ตับ และไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา โดยมีหน้าที่สำคัญคือ ทำให้เกิดพลังงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประมาณ 95% ของพลังงานในร่างกาย และเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคมะเร็งต่างๆ และเป็นต้นเหตุของเซลล์เสื่อมสภาพหรือความแก่นั่นเอง
ดร.เอกราชกล่าวต่อว่า ปกติร่างกายเราได้รับคิวเทน 2 ทาง จากอาหารที่เรากินทั่วไป และจากการสังเคราะห์ ของร่างกาย อาหารที่มี “คิวเทน” สูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลาทะเล หัวใจ ตับ ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันงา ส่วนการสังเคราะห์นั้น ร่างกายจะสังเคราะห์ “คิวเทน” ได้ดีตอนช่วงอายุน้อยๆ และจะลดลงหลังจากอายุ 21 ปี นอกจากนี้การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitors ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดคอเลสเทอรอลและไขมันในเลือด ยังมีผลยับยั้งการสังเคราะห์ “คิวเทน” ด้วย และการเจ็บป่วยก็จะทำให้ร่างกายมีระดับ “คิวเทน” ต่ำมาก ดังนั้นการได้รับ “คิวเทน” โดยตรงจากอาหาร จึงมีความจำเป็นมากขึ้น
สำหรับประโยชน์ของ “คิวเทน” ต่อสุขภาพและความงามนั้น ดร.เอกราช เปิดเผยว่า ด้วยเหตุที่ “คิวเทน” ทำหน้าที่ในกระบวนการเสริมสร้างพลังงานให้แก่ทุกๆเซลล์ และต่อต้านอนุมูลอิสระไม่ให้ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกาย จึงมีการนำมาใช้ในด้านความสวยความงาม “คิวเทน” ที่ได้รับจากอาหารจะถูกดูดซึมได้ดีกว่าการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง ดังนั้นผลในด้านสุขภาพโดยรวมจะมีมากกว่าในด้านผิวพรรณ ส่วนที่มีการนำ “คิวเทน” ไปผสมในเครื่องสำอางที่ใช้ภายนอกนั้น จะสามารถซึมผ่านผิวหนังชั้นนอกได้ประมาณ 20% และซึมผ่านผิวหนังแท้ได้ประมาณ 3% จากผลวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า “คิวเทน” ช่วยป้องกันเซลล์จากการถูกทำลายโดยรังสียูวีจากแสงแดด และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ “คิวเทน” ที่มีในผลิตภัณฑ์และความสามารถของพาหะหรือตัวกลางที่จะพา “คิวเทน” เข้าสู่ผิวหนังด้วย หากตัวกลางหรือตัวทำละลายมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ จึงควรทดสอบการแพ้ก่อนนำไปใช้ และยังไม่พบผลโดยตรงที่ช่วยให้ขาวขึ้น
สุดท้าย ดร.เอกราชได้แนะนำถึงการบริโภคว่า แต่ละวันควรบริโภคอาหารให้ได้รับคิวเทน 20-30 มิลลิกรัม โดยกินร่วมกับอาหารที่มีไขมัน เพราะ “คิวเทน” ละลายได้ดีในไขมัน หากได้รับ “คิวเทน” น้อยเกินไปอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จากการที่เซลล์ไม่สามารถสร้างพลังงานอย่างเพียงพอทั้งภายนอกและภายในร่างกาย และมีผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง “คิวเทน” ถือว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่พบผลข้างเคียงใดๆที่รุนแรงจากการบริโภค ปริมาณสูงถึง 300-600 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากอาการคลื่นไส้ไม่สบายท้อง อย่างไรก็ตาม การกินในปริมาณนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี การกินต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และไม่ควรกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานานโดยไม่มีระยะพักอีกด้วย.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
**เมื่อวานตื่นเต้นมากที่อาจารย์มานิเทศก์ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี**
ตอบลบอยากสวยแบบไม่ยุ่งยาก มีไหม แต่ไม่เอาแบบตายแล้วเกิดใหม่นะ
ตอบลบ